คืบหน้า รถไฟความเร็วสูงเมืองพัทยา กรมโยธาธิการฯจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น ทำกรอบแนวทางพื้นที่โดยรอบ พร้อมวางผังโครงสร้าง พัฒนาพัทยา 4.0 ยกระดับอุตสาหกรรม พัฒนาเศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน
วันนี้ 26 ก.ค.2561 ณ ห้องทัพพระยา ศาลาว่าการเมืองพัทยา กรมโยธาธิการและผังเมือง จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ครั้งที่ 1 โครงการศึกษาออกแบบและวางผังพื้นที่เฉพาะโดยรอบสถานีรถไฟความเร็วสูงเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี โดย นายชายชาญ เอี่ยมเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีเป็นประธานเปิดการประชุม นางชูศรี มาลีหอม ผู้แทนกรมโยธาธิการและผังเมืองกล่าวรายงาน และนายอภิชาติ วีรปาล รองนายกเมืองพัทยา กล่าวต้อนรับและเชิญชวนให้ประชาชนที่เข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะ โดยมีมีหัวหน้าส่วนราชการ ประชาชนและสื่อมวลชนเข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนมาก
จังหวัดชลบุรีเป็น 1 ใน 3 จังหวัดของประเทศไทยที่อยู่ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EEC โดยเป็นแผนยุทธศาสตร์ภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 มีเป้าหมายหลักในการส่งเสริมการลงทุนการยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทำให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตได้ในระยะยาวและมีประสิทธิภาพซึ่งได้เน้นหนักในด้านการส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่และระบบโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญโดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมโยงระหว่างกรุงเทพมหานครเข้าสู่พื้นที่พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งจังหวัดชลบุรีเป็นจังหวัดที่มีความสำคัญด้านการท่องเที่ยวของภาคตะวันออกและเป็นเมืองศูนย์กลางการค้า การคมนาคมขนส่งที่สำคัญที่เชื่อมโยงในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ อีกทั้งมีแนวโครงการรถไฟความเร็วสูงผ่านในพื้นที่ โดยทางภาครัฐได้กำหนดตำแหน่งที่ตั้งของสถานีรถไฟความเร็วสูงไว้ที่เมืองพัทยา ซึ่งจะทำให้พื้นที่บริเวณดังกล่าวเกิดการขยายตัวในด้านต่างๆ ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดการพัฒนาเมืองอย่างไม่มีระบบและเกิดปัญหาของเมืองด้านต่างๆตามมา ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการออกแบบวางผังพื้นที่เฉพาะโดยรอบสถานีรถไฟความเร็วสูง เพื่อเป็นกรอบแนวทางการพัฒนาพื้นที่ด้านต่างๆ เช่น ด้านกายภาพ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน และองค์ประกอบของเมืองด้านอื่นๆที่จำเป็น เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EEC
พื้นที่เฉพาะโดยรอบสถานีรถไฟความเร็วสูงเมืองพัทยา ตั้งอยู่บริเวณโดยรอบสถานีรถไฟพัทยา มีศักยภาพด้านการเชื่อมโยงระบบขนส่งและโลจิสติกส์ที่สำคัญ อีกทั้งเป็นพื้นที่เพื่อการรองรับด้านการค้า การท่องเที่ยว และการขยายตัวด้านอยู่อาศัย จึงมีความจำเป็นต้องมีการกำหนดแนวทางการพัฒนาและเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ให้เกิดการพัฒนาและจัดการเมืองและพื้นที่รอบสถานีให้มีความกระชับ และส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบผสมผสาน มีความสะดวกในการเดินทาง เกิดความคุ้มค่าและสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้เพื่อให้โครงการ สอดคล้องกับนโยบายและความต้องการของประชาชนรวมทั้งสามารถนำไปสู่การปฏิบัติจริงให้เกิดการพัฒนาได้อย่างยั่งยืนกรมโยธาธิการและผังเมืองจึงจัดโครงการให้มีขั้นตอนการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาพื้นที่จำนวนทั้งหมด 2 ครั้งด้วยการประชุมในวันนี้เป็นการประชุมครั้งที่ 1 มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงที่มาและความสำคัญของโครงการนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้นและเสนอแนะแนวทางการพัฒนาพื้นที่และ ระดมความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะวิสัยทัศน์บทบาทและทิศทางในการพัฒนาพื้นที่จากมุมมองของคนในพื้นที่ โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง จะได้นำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาพื้นที่อย่างมีทิศทาง มีการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ส่งเสริมการเชื่อมโยงกิจกรรมทางการค้าและการเดินทางสัญจรของนักท่องเที่ยวและคนในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดความมีระเบียบสะดวกสบายและปลอดภัย รวมทั้งคงอัตลักษณ์ คงลักษณะเด่นของพื้นที่ไว้
โดยในที่ประชุมประชาชนได้เสนอแนะในการร่างผังแนวคิดการพัฒนาพื้นที่ว่า กรมโยธาธิการและผังเมืองควรระบุให้ชัดเจนในการออกแบบผังพื้นที่ การเวรคืน การจ่ายค่าเวนคืน การกำหนดระเบียบความสูงการสร้างอาคาร การเฝ้าระวังในเรื่องสุขภาพ ระบบบำบัดน้ำเสีย มลพิษในระหว่างการก่อสร้าง รวมทั้งเสนอให้มีการจัดประชุมที่เทศบาลเมืองหนองปรือด้วย เพราะการวางผังพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟความเร็วสูงนี้ ประชาชนในเขตหนองปรือที่อาศัยในบริเวณดังกล่าวเป็นจำนวนมากควรร่วมรับรู้และเสนอแนะด้วย ทั้งนี้ผู้แทนจากกรมโยธาธิการและผังเมืองได้ตอบคำถามในประเด็นดังกล่าว่า ไม่มีการเวนคืน เป็นการศึกษา ออกแบบและวางผังพื้นที่ให้มีความเหมาะสม ทันสมัย เพื่อส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ข้อมูลไปใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาพื้นที่ให้สอดคล้องกับความเป็นจริงในพื้นที่ต่อไป สำหรับข้อเสนอแนะดังกล่าวจะนำไปประชุมกับการรถไฟแห่งประเทศไทยต่อไป เพื่อปรึกษาหารือในการกำหนดแนวทางการพัฒนาอย่างไรไม่ให้มีผลกระทบกับสังคม สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยจะมีการนำเสนอผลสรุปการดำเนินการนี้ในการประชุมครั้งต่อไป